Services

บริการตรวจสุขภาพพนักงาน

บริการตรวจสุขภาพพนักงาน

SDec co.,ltd. บริษัทเรา เป็นตัวแทนให้บริการโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำที่มีประสบการณ์

1. การตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพโดยรวมเบื้องต้น หรือการตรวจแบบ comprehensive สำหรับทั้งเพศหญิงและเพศชาย ประกอบไปด้วย

  • การตรวจร่างกายทั่วไป โดยแพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิดของคนในครอบครัว ประวัติอาการต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา รวมถึงพฤติกรรมต่างๆที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ ร่วมกับการตรวจเบื้องต้น เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย ประกอบกับการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถแยกโรคได้ในระดับหนึ่ง
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ประเมินความเข้มข้นของเลือด ซึ่งอาจบอกถึงสภาวะผิดปกติเช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย จำนวนเกล็ดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) เพื่อประเมินความเสี่ยง และคัดกรองโรคเบาหวาน
  • ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดีและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เพื่อูประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจระดับกรดยูริก เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์
  • ตรวจการทำงานของไต เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูระดับค่าครีเอตินิน (creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ และ ค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ซึ่งเป็นค่าของเสียจากการย่อยสลายโปรตีน เพื่อประเมินความสามารถในการขับของเสียของไต
  • ตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจดูความผิดปกติของตับและทางเดินน้ำดี โดยตรวจหาเอ็นไซม์และสารต่างๆ ในเลือดเพื่อหาภาวะตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ ภาวะดีซ่าน
  • ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์จากระดับฮอร์โมนในเลือด เช่น TSH และ Free T4
  • ตรวจไวรัสตับอักเสบ โดยไวรัสตับอักเสบบีสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้จากส่วนประกอบของเชื้อ HBsAg และการตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้แก่การตรวจ HBsAb ขณะที่ไวรัสตับอักเสบซีสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้โดยตรวจ Anti-HCV
  • ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (CEA) การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) ในสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรี และตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ในสุภาพบุรุษทุกช่วงวัย
  • ตรวจปัสสาวะ ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะเช่น โรคเบาหวาน
  • ตรวจอุจจาระ ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น เช่น ภาวะการอักเสบติดเชื้อในลำไส้ พยาธิ รวมถึงตรวจหาภาวะเลือดปนในอุจจาระซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ริดสีดวงทวาร มะเร็งทางเดินอาหาร 
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการประเมินการทำงานของหัวใจในขณะพัก เพื่อดูความผิดปกติเช่นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ  วัณโรคและโรคต่างๆของปอด
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องท้องเช่น ตับ ไต ตับอ่อน ม้าม เส้นเลือดใหญ่ภายในช่องท้อง รวมถึงมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงและต่อมลูกหมากในผู้ชาย
  • ตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นและความดันลูกตา เป็นการตรวจสุขภาพตาทั่วไป และค้นหาความเสี่ยงต่อภาวะต้อหิน

การตรวจต่างๆ เหล่านี้เหมาะกับกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี โดยอาจมียกเว้นบ้าง สำหรับการตรวจบางอย่างในผู้สูงอายุ เช่น การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเป็นกรณีไป

2. การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง

การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงตามสภาพแวดล้อมการทำงาน จากการทำงานในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้สอดคล้องตามกฎหมายดังนี้

  1. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ.2547
  2. ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง พ.ศ.2552
  3. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ.2559 หมวด 6 ข้อ 16

        ดังนั้นการจัดโปรแกรมการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้แก่พนักงานได้อย่างพอเพียง และเหมาะสม จะช่วยในการคัดกรอง และป้องกันหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นก่อนที่จะก่อให้เกิดโรคจากการทำงาน  สถานประกอบกิจการต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างที่มีความเสี่ยงในการทำงานเพื่อให้ทราบสภาวะความเปลี่ยนแปลงของร่างกายสามารถ จำแนกแนวทางการตรวจออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

  • การตรวจผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นการตรวจสอบสถานะสุขภาพของลูกจ้าง เพื่อดูอาการแสดงเริ่มแรกของความผิดปกติของสุขภาพของลูกจ้าง
  • การตรวจเพื่อเฝ้าระวังการสัมผัส เป็นการตรวจปริมาณสารเคมีที่ร่างกายได้รับ พิจารณาใช้สำหรับสารเคมีที่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ และการเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อประเมินการสัมผัสไม่พอเพียงที่จะประเมินปริมาณสารที่ร่างกายได้รับจากการทำงาน  ซึ่งทำได้โดยการเก็บสารคัดหลั่งหรือเนื้อเยื่อจากร่างกายของลูกจ้างตามเวลาการเก็บตัวอย่างที่กำหนด
  • การตรวจผลกระทบทางร่างกายอื่นๆ เป็นการตรวจสถานะสุขภาพอื่นๆ เพื่อใช้ประกอบในการวินิจฉัยการก่อโรคโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์